วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เครื่องตรวจบัตรเครดิตปลอม

ปัญหาบัตรเครดิตปลอมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทั่วโลกรวมทั้ง ประเทศไทยซึ่งเกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศ โดยใช้วิธีการหลากหลายในการขโมยข้อมูลต่างๆ เช่น การแจ้งบัตรหายหรือบัตรถูกขโมย แล้วกลับนำบัตรไปใช้ในการทุจริต หรืออาจมีการปลอมแปลงเอกสารการสมัครเป็นชื่อบุคคลอื่นแล้วนำบัตรดังกล่าวไป ใช้ ที่พบเจอมากที่สุดก็คือ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยคัดลอกข้อมูลในบัตรและปลอมบัตรใหม่ไปใช้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือได้ว่ามีความผิดเป็นอาชญากรข้ามชาติเลยทีเดียว

เนื่องจากผู้กระทำผิดในธุรกิจประเภทนี้มีทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติที่ เข้ามากระทำการในประเทศไทย โดยบุคคลทั้ง 2 กลุ่มนี้จะมีขั้นตอนการทำงานและวางแผนอย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้เคยจับกุมชาวต่างชาติกรณีใช้บัตรเครดิต ปลอม โดยใช้วิธีขโมยข้อมูลบัตรเครดิตผ่านทางสายโทรศัพท์ (wire  tapping) ของบุคคลอื่น เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วจะใช้เครื่องแปลงข้อมูลลงในบัตรใหม่ โดยมีการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมหรือหนังสือเดินทางปลอมใช้ควบคู่กับ บัตรเครดิตที่ปลอมขึ้นและนำไปใช้ในทางทุจริต มีข้อมูลตัวเลขความเสียจากการปลอมแปลงบัตรเครดิตในประเทศอังกฤษ จากองค์กรชื่อ APAC ซึ่งเป็นองค์กรทางด้านธุรกรรมทางการเงินได้สรุปรายงานล่าสุดออกมาเกี่ยวกับ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากบัตรปลอมที่ทำขึ้นเลียนแบบบัตร จริงที่ออกโดยหน่วยงานในประเทศอังกฤษ ตัวเลขในรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงมูลค่าความเสียหายในปี พ.ศ. 2552ที่เกิดขึ้นภายในประเทศอังกฤษมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2551 19% หรือคิดเป็น36.9 ล้านปอนด์ ในขณะที่มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนอกประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 17% หรือคิดเป็น 132.9 ล้านปอนด์ (รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จาก www.cardwatch.org.uk )จากปัญหาดังกล่าวเนคเทคจึงได้วิจัยพัฒนา “เครื่องตรวจสอบบัตรเครดิตปลอม”  ขึ้น






 


“เครื่องตรวจสอบบัตรเครดิตปลอม” เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งจากผลงานวิจัยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโท นิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ นำโดย ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร และ นายยุทธนา อินทรวันณี ที่ได้ผสมผสานความรู้ทางด้านแสง อิเล็กทรอนิกส์ และ ซอฟท์แวร์ เข้าด้วยกัน ทั้งยังได้จดสิทธิบัตรคุ้มครอง และ มีผลการทดสอบที่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการระดับสากลในวารสารวิชาการ Applied Optics เดือน ธันวาคม 2552 และ กุมภาพันธ์ 2553
เครื่องตรวจบัตรเครดิตปลอมที่ทางหน่วยฯ ได้พัฒนาขึ้นสามารถตรวจสอบตัวบัตรเครดิตได้ว่าเป็นบัตรเครดิตจริงหรือปลอม โดยไม่ต้องตรวจสอบข้อมูลที่เก็บอยู่ในภายแถบแม่เหล็กหรือชิป ทำให้ปราศจากข้อกังวลในเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เครื่องตรวจบัตรเครดิตรุ่นนี้ได้ผ่านการทดสอบในงานแสดงสินค้า ComMart โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (KTC) มาแล้ว ปัจจุบันหน่วยงานตรวจสอบบัตรเครดิตของบริษัท บัตรกรุงไทย (มหาชน) จำกัด และของธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีเครื่องรุ่นนี้ไว้ใช้แล้ว นอกจากนี้ทางหน่วยฯ ยังได้ขายสิทธิ์การผลิตให้แก่บริษัท นิวเวฟไอเดียส์ จำกัด เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป อนึ่งสำหรับบัตรเครดิตปลอมที่ตรวจสอบได้หมายถึงบัตรเครดิตที่ตัวบัตรเป็นของ ปลอม ไม่ใช่บัตรเครดิตจริงที่ถูกขโมยมา
คุณสมบัติเบื้องต้น:
 ชนิดของบัตรเครดิต       VISA, MasterCard
 ความถูกต้อง       100%
 เวลาที่ใช้ในการตรวจ       < 0.5 วินาที
  ขนาด (กxยxส)       9x17x10 ซม.3
 แรงดันไฟฟ้าที่ต้องการ       9-15 VDC, 1000 mA
 ลักษณะเด่น:  ขนาดกะทัดรัด ใช้งานง่าย ประหยัดพลังงาน

การใช้งาน: เพียง เปิดเครื่องฯ จากนั้นเสียบบัตรเครดิตที่ต้องการตรวจสอบเข้าช่องเสียบบัตร แล้วสังเกตหน้าจอแสดงผล หลังจากที่ระบบประมวลผลเสร็จ ตัวอักษรสีเขียวจะปรากฏบนหน้าจอ สำหรับกรณีบัตรเครดิตที่ตัวบัตรเป็นของจริง แต่จะปรากฏเพียงแถบสีเขียวหรือหน้าจอว่างกรณีที่ตัวบัตรเป็นของปลอม
ทำไมต้องตรวจสอบบัตรเครดิตด้วยเครื่องตรวจบัตรเครดิต? จริงๆ แล้วบัตรเครดิตทั้งของ VISA และ MasterCard มีเอกลักษณ์ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าสำหรับใช้จำแนกบัตรเครดิตจริงออก จากบัตรเครดิตปลอมอยู่ 5 ตำแหน่ง ดังนี้
  • ชื่อผู้ถือบัตร และ ตัวเลข 16 หลัก ซึ่งบ่งบอกชนิดของบัตร และ หน่วยงานที่เป็นผู้ออกบัตรให้
  • สัญลักษณ์ของบัตรเครดิต เช่น VISA และ MasterCard ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง
  • บริเวณเก็บข้อมูล เช่น แถบแม่เหล็ก และ ชิป รวมไปถึงตัวเลข 3 หลัก ที่อยู่ด้านหลังบัตรเครดิต
  • ฮอโลแกรม หรือ รูปที่พิมพ์อยู่บนแถบโลหะ ซึ่งสามารถเปลี่ยนสีหรือรูปร่างไปมาได้เมื่อมุมของการสังเกตหรือมุมของแสง เปลี่ยนไป สำหรับบัตร VISA จะเป็นรูปนก ส่วนบัตร     MasterCard จะเป็นรูปลูกโลก
  • ภาพเรืองแสงบนตัวบัตรเมื่อมีแสงแบล๊คไลท์ส่่องไปยังตัวบัตร 

   
 เอกลักษณ์ภายนอกที่ได้จากบัตรเครดิตจริง   เอกลักษณ์ภายนอกที่ได้จากบัตรเครดิตปลอม

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้ส่งผลให้เอกลักษณ์เหล่านี้ปรากฏอยู่บน ตัวบัตรเครดิตปลอมเช่นกัน เพียงแต่ส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดในระดับไมโครเมตรหรือนาโนเมตรที่แตกต่างกัน ออกไป ซึ่งเกินความสามารถของตามนุษย์ที่จะแยกแยะความแตกต่างนี้ได้ เนื่องจากแสงมีความถี่สูง หรือ ความยาวคลื่นต่ำ ในระดับนาโนเมตร เครื่องตรวจบัตรเครดิตที่ใช้การผสมผสานความรู้สามแขนงเข้าด้วยกันตามที่ได้ อธิบายข้างต้น จึงสามารถแยกแยะความแตกต่างเบื้องต้นและแสดงให้เห็นได้ว่าตัวบัตรเครดิตที่ กำลังตรวจสอบนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการฝ่าย หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ เนคเทค
081-4326928 เบอร์โทรศัพท์ 025646900ต่อ2102 E-mail sarun.sumriddetchkajorn@nectec.or.th This e-mail address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it

ที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์ เนคเทค (10 ส.ค.53)

เรือดำน้ำประหยัดพลังงาน 100%



เรือดำน้ำ "Scubster" สัญชาติฝรั่งเศส ประหยัดพลังงานได้ถึง 100% เพราะขับเคลื่อนโดยใช้คนปั่น  เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง   EndlessFlyers association กับ อีกสองมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีในฝรั่งเศส  และสองหน่วยงานนี้จะเป็นตัวแทนจากฝรั่งเศสทีมแรกที่เข้าร่วมการแข่งขันเรือ ดำน้ำระดับโลกที่จะจัดขึ้นที่อเมริกาอีกด้วย


ที่มา สำนักข่าวไทย

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ดวลปืน "เฟอร์มิแล็บ-เซิร์น" ตามล่าหา "อนุภาคพระเจ้า" ใครจะเจอก่อนกัน?

อาจจะไม่เร้าใจ เหมือนการดวลปืนของคาวบอย แต่การแข่งขันตามล่าหา "ฮิกกส์" ของห้องปฏิบัติการ "เฟอร์มิแล็บ" จากฟากสหรัฐฯ และ "เซิร์น" จากฝั่งยุโรป ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับบรรดานักฟิสิกส์ไม่น้อย

อาจจะไม่เร้าใจ เหมือนการดวลปืนของคาวบอย แต่การแข่งขันตามล่าหา "ฮิกกส์" ของห้องปฏิบัติการ "เฟอร์มิแล็บ" จากฟากสหรัฐฯ และ "เซิร์น" จากฝั่งยุโรป ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับบรรดานักฟิสิกส์ไม่น้อย
สำนักข่าวเอพีระบุว่า ท้ายที่สุดแล้ว เครื่องเร่งอนุภาคเทวาตรอน (Tevatron) ของห้องปฎิบัติการเครื่องเร่งอนุภาคเฟอร์มิแห่งสหรัฐอเมริกา (Fermi National Accelerator Laboratory) หรือเฟอร์มิแล็บ (Fermilab) ในชานเมืองชิคาโก สหรัฐฯ กับเครื่องอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ของเซิร์น (CERN) ล้วนแข่งขัน เพื่อหาหลักฐานที่สนับสนุนการมีอยู่ของอนุภาคที่เรียกว่า "ฮิกก์ส" (Higgs) หรือที่รู้จักกันว่า "อนุภาคพระเจ้า" ซึ่งเชื่อว่าเป็นอนุภาคที่ก่อมวลให้กับสสารที่สร้างขึ้นเป็นเอกภพ
"อนุภาคดังกล่าว กลายเป็นเหมือนจอกศักดิ์สิทธิ์ของวงการฟิสิกส์พลังงานสูงมากว่า 30 ปี" โจ ลิคเกน (Joe Lykken) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของเฟอร์มิแล็บให้ความเห็น
เอพีระบุต่อว่าเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ปรากฏหลักฐานว่า อนุภาคฮิกกส์จะได้รับการค้นพบ โดยนักวิทยาศาสตร์จากเซิร์นซึ่งประจำอยู่ที่เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีไม่ ใช่ที่เฟอร์ลิแล็บ ซึ่งลิคเกนก็ยอมรับว่า ผู้คนต่างหัวเราะในแนวคิดที่เฟอร์มิแล็บจะค้นพบอนุภาคฮิกกส์ โดยเครื่องเร่งอนุภาคของสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อตามหาอนุภาคฮิกก์ส
ทั้งนี้ เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี ซึ่งปัจจุบันคือเครื่องเร่งอนุภาคให้ชนกันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีสมรรถนภาพสูงกว่าเครื่องเร่งอนุภาคเทวาตรอนมาก อีกทั้งยังเริ่มเดินเครื่องได้อย่างประทับใจคนทั่วโลกเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา โดยยิงลำอนุภาคโปรตอนด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสง เข้าสู่ท่อลำเลียงลำอนุภาคของเครื่องเร่งในทิศทางตามเข็มนาฬิกา และทวนเข็มนาฬิกา
อย่างไรก็ดี เพียงอาทิตย์กว่าๆ ให้หลังก็ต้องหยุดเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี เนื่องจากเกิดความเสียหายครั้งใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความผิดพลาดในการต่อสายไฟจนเป็นเหตุให้อุปกรณ์หลอมละลาย แต่ในเดือนนี้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเผยว่า ได้ซ่อมแซมและเพิ่มความปลอดภัยเพื่อป้องกันไฟไหม้อีกครั้ง โดยจะแล้วเสร็จในปลายเดือน ก.ย.นี้
ทางด้านนักวิทยาศาสตร์เฟอร์มิแล็บกล่าวว่า เครื่องเร่งอนุภาคของพวกเขาก็เดินเครื่องไปได้ดี ซึ่งเพิ่มความหวังในการทดลองที่จะเกิดขึ้น คือการยิงลำอนุภาคโปรตรอนให้ชนกับลำปฏิโปรตรอน (antiproton) ว่าจะให้ผลเป็นอนุภาคฮิกก์สออกมา และดูเหมือนว่าการทดลองดังกล่าว จะเป็นหนทางในการใช้เงินอย่างชาญฉลาดด้วย
" เรากำลังพิจารณางบประมาณมหาศาล ที่ถูกตัดออกไปเมื่อปีก่อน และตอนนี้เรามีความหวังที่จะได้รับงบกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังเร่งรีบที่จะหาวิธีใช้ประโยชน์เครื่องเร่งอนุภาคของเราให้ได้มากที่ สุด" ลิคเกนกล่าว
ส่วน ดีมิทรี เดนิซอฟ (Dmitri Denisov) นักวิทยาศาสตร์ของเฟอร์มิแล็บกล่าวว่า มี ความเป็นไปได้ ที่เป็นเฟอร์มิแล็บจะพบอนุภาคฮิกก์สอยู่ 50-90% และเชื่อว่าพวกเขามี "ของจริง" และโอกาสที่พิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผลแล้ว คาดว่าจะพบอนุภาคฮิกก์สได้ก่อนปี 2553 หรือ 2554
ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับในสังคมวิทยาศาสตร์ว่า การค้นพบอนุภาคฮิกก์สจะทำให้ผู้ค้นพบได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์
"เรามีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนี้จริงๆ เพื่อมีโอกาสดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมค้นหาที่บ้าคลั่ง" ความเห็นของ จาโคโบ โกนิกส์เบิร์ก (Jacobo Konigsberg) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) ซึ่งทำงานอยู่ที่เฟอร์มิแล็บ
อย่างไรก็ตาม เขาและนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งผู้ทำงานที่เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี ได้ลดความสำคัญที่จะพูดเรื่องการแข่งขันลง แต่พุ่งเป้าไปยังงานที่นักวิทยาศาสตร์ต้องทำว่ามากเพียงใด รวมถึงความร่วมในการแบ่งปันข้อมูลกันโดยไม่ลังเล
ความเป็นมิตรระหว่างนักวิทยาศาสตร์จาก 2 ห้องปฏิบัติการ ที่แข่งขันหาสิ่งเดียวกันฉายชัดในเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา เมื่อนักวิทยาศาสตร์ของเฟอร์มิแล็บเอง ต่างก็ลุ้นอย่างใจจดใจจ่อ กับการทดสอบเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีครั้งใหญ่และครั้งแรก โดยที่แต่ละคนยังอยู่ในชุดนอน
"มันไม่ใช่การแข่งขัน จริงๆ นะ" ความเห็นของ ฮาร์วีย์ นิวแมน (Harvey Newman) ศาสตราจารย์ฟิสิกส์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย หรือ คาลเทค (Caltech) ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่นำให้เกิดการวิจัยที่เซิร์น และกล่าวว่า เครื่องเร่งอนุภาคของเฟอร์มิแล็บ มีกำลังเพียงพอที่จะแสดงความเป็นไปได้ของอนุภาคฮิกก์ส แต่ไม่ได้ให้ความมั่นใจว่าสิ่งที่ค้นหาได้นั้นคือการค้นพบ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ้องกับความเห็นของลิคเกน เพียงแต่บางรายละเอียดต่างไป
"เทวาตรอนไม่อาจชี้ชัดในที่สุดได้ และเรายังต้องการแอลเอชซี ให้ฟันธงว่าสิ่งที่ค้นพบนั้นคือฮิกก์สจริงๆ แต่ หากเฟอร์มิแล็บค้นพบมากอย่างที่น่าจะเป็นฮิกก์สได้จริงๆ ปฏิกริยาที่ตามมาคงคล้ายแฟนทีมเบสบอลแสดงออกต่อชนะของทีมในดวงใจ และจะเป็นชัยชนะอันเหลือเชื่อสำหรับโครงการของสหรัฐฯ ที่ใช้เครื่องเร่งอนุภาคพลังงานต่ำที่เฟอร์มิแล็บ แล้วสร้างการค้นพบนี้" ลิคเกนกล่าว.

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

สวิสทำหุ่นยนต์เลียนแบบแบคทีเรีย เล็กระดับไมโครเมตร


หุ่นยนต์ขนาดจิ๋วที่มีความยาวเพียงระดับหลักสิบไมโครเมตรเท่านั้น ซึ่งทีมนักวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์ประดิษฐ์ขึ้นโดยเลียนแบบลักษณะของแบคทีเรีย ชนิดที่มีหางยาวคล้ายแส้สำหรับช่วยในการเคลื่อนที่ ซึ่งในอนาคตหวังว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ (ไซน์เดลี/IRIS)


นักวิจัยสวิสสร้างหุ่นยนต์ขนาดเล็กระดับไมโครเมตรได้เป็นครั้งแรก เลียนแบบแบคทีเรีย อี โคไล เคลื่อนที่ได้โดยไม่ต้องใช้พลังงาน แต่อาศัยสนามแม่เหล็ก อนาคตหวังใช้เป็นตัวนำส่งยาเข้าร่างกายผู้ป่วยได้แม่นยำตรงจุด

ศาสตราจารย์ แบรดลีย์ เนลสัน (Bradley Nelson) นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันการออกแบบหุ่นยนต์และระบบอัจฉริยะ (Institute of Robotics and Intelligent Systems: IRIS) เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ ประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนาดจิ๋วระดับไมโครเมตร โดยเลียนแบบให้มีลักษณะคล้ายแบคทีเรียที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น อี โคไล (E. coli) ซึ่งไซน์เดลีระบุว่า นักวิจัยตั้งใจพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในทางการแพทย์แห่งอนาคต

หุ่นยนต์จิ๋วที่นักวิจัยสวิสรายนี้ประดิษฐ์ขึ้นมีชื่อเรียกว่า "เอบีเอฟส์" (Artificial Bacterial Flagella: ABFs) มีลักษณะคล้ายเกลียวสว่าน โดยมีหัวอยู่ตรงส่วนปลายด้านหนึ่ง มีขนาดยาวตั้งแต่ 25-60 ไมโครเมตร ซึ่งทำขึ้นเลียนแบบแบคทีเรียในธรรมชาติชนิดที่มีแฟลกเจลลา (Flagella) หรือ มีหางยาวคล้ายแส้ สำหรับช่วยในการเคลื่อนที่

ทว่าส่วนแฟลกเจลลาของแบคทีเรีย ที่มีอยู่ในธรรมชาติมักมีความยาวแค่ 5-15 ไมโครเมตร และมีเพียงบางชนิดที่มีแฟลกเจลลายาวเกิน 20 ไมโครเมตร

นักวิจัยประดิษฐ์หุ่นยนต์จิ๋ว หรือแบคทีเรียเทียมดังกล่าวได้มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยมีการคิดค้นพัฒนา กันมา โดยทำขึ้นจากวัตถุดิบที่ประกอบด้วยแผ่นบางเฉียบของธาตุอินเดียม, แกลเลียม, อาร์เซนิก และโครเมียม ที่ซ้อนกันหลายๆ ชั้น และสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยเทคนิคการม้วนตัวเอง จากรูปร่างที่มีลักษณะเป็นเกลียว

รูปร่างเกลียวนี้เกิดขึ้นเองทันที หลังจากที่นักวิจัยดึงโครงร่างออกจากแผ่นโลหะที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้น อันเนื่องมาจากโมเลกุลของโลหะหลายชนิดที่ประกอบกันเป็นโครงสร้างหลายชั้น และรูปแบบการขดตัวเป็นเกลียว ก็ขึ้นอยู่กับความหนาและตำแหน่งการจัดวางชั้นของแผ่นโลหะวัตถุดิบโดยตรง ทำให้นักวิจัยสามารถกำหนดขนาดหรือทิศทางการหมุนของเกลียวหางได้ตามที่ต้อง การ

สำหรับบริเวณที่เป็นส่วนหัวของหุ่นยนต์จิ๋วนั้น ทำจากแผ่นฟิล์ม 3 ชั้น ของโลหะโครเมียม นิเกิล และทอง โดยนำไปประกอบติดที่ส่วนปลายด้านใดด้านหนึ่งของเกลียว กลายเป็นหุ่นยนต์ขนาดไมโครเมตร ที่มีลักษณะคล้ายแบคทีเรียมีหางแส้ดังกล่าว

นิ เกิลที่เป็นองค์ประกอบของส่วนหัวนั้น มีคุณสมบัติแม่เหล็กอ่อนๆ ขณะที่โลหะชนิดอื่นที่เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ไม่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก ส่วนหัวของหุ่นยนต์จิ๋ว จึงทำให้ตัวมันสามารถเคลื่อนที่ไปตามทิศทางในสนามแม่เหล็กได้

ทีมวิจัยได้พัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ช่วยบังคับหุ่นยนต์เอบีเอฟส์ให้เคลื่อนที่ไปทุกทิศทางด้วยสนามแม่เหล็ก ได้ โดยไม่ต้องอาศัยพลังงาน รวมทั้งเคลื่อนที่ไปในน้ำหรือของเหลวได้ด้วย โดยสามารถทำให้เคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วประมาณ 20 ไมโครเมตรต่อวินาที ขณะที่ อี โคไล เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 30 ไมโคเมตรต่อวินาที ซึ่งศาสตราจารย์เนลสันตั้งใจว่าจะพัฒนาให้หุ่นยนต์แบคทีเรียเคลื่อนที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นมากกว่า 100 ไมโครเมตรต่อวินาที

ศาสตราจารย์เนลสันบอกว่าพัฒนาหุ่นยนต์จิ๋ว ที่มีลักษณะคล้ายแบคทีเรียในธรรมชาติก็เพื่อจะนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ในอนาคต เช่น ใช้ในการนำส่งยา กำจัดคราบที่อุดตันในเส้นเลือด หรือปรับปรุงโครงสร้างของเซลล์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังต้องศึกษาและพัฒนาต่อไปอีกหลายขั้น ก่อนที่จะนำไปใช้งานจริงกับผู้ป่วยได้ คือจะทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม ปรับปรุงในเรื่องของการบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ การติดตามเส้นทางการเคลื่อนที่ และการระบุตำแหน่งของหุ่นยนต์ได้อย่างถูกต้องตลอดเวลา เช่น หากใช้นำส่งยา หุ่นยนต์จะต้องเคลื่อนที่ไปได้ถูกทิศทาง และปลดปล่อยยาออกมาได้ตรงกับจุดที่ต้องการให้ตัวยาเข้าถึงได้อย่างแม่นยำ.

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

นักวิทย์มะกันพัฒนาซอฟต์แวร์ออกแบบเอ็นไซม์ สร้างยาต้านเชื้อดื้อสำเร็จเร็วขึ้น

การพัฒนายาใหม่ๆ ที่ต้องใช้เวลานับสิบๆ ปี อาจหดสั้นลงเหลือแค่ไม่กี่ปี เพราะทีมวิจัยสหรัฐฯ พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยออกแบบเอนไซม์ตัวสำคัญในแบคทีเรีย ที่ผลิตสารปฎิชีวนะได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยย่นเวลานักวิจัยในการสุ่มสังเคราะห์ยาใหม่ในแล็บแบบวิธีเดิมๆ

บรูซ โดนัลด์ (Bruce Donald) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเคมีและคอมพิวเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ค (Duke University) เมืองเดอรัม มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา นำทีมวิจัยพัฒนาซอฟต์แวร์ อัลกอริทึม เค สตาร์ (algorithm K*) เพื่อใช้ในการออกแบบโครงสร้างเอนไซม์สำคัญที่ช่วยผลิตยาปฏิชีวนะที่ชื่อ กรามิซิดิน เอส (gramicidin S) ในเซลล์ของแบคทีเรีย บาซิลลัส เบรวิส (Bacillus brevis) สำหรับการพัฒนายาใหม่ในตระกูลเดียวกัน เพื่อใช้ต้านเชื้อโรคที่ดื้อยาเดิม ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะช่วยให้การค้นหายาใหม่ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

โปรแกรม algorithm K* ที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นนั้นสามารถช่วยสรรหาโครงสร้างของเอนไซม์สำคัญในการ สร้างสาร gramicidin S โดยธรรมชาติในเซลล์แบคทีเรีย ที่มีความเป็นไปได้และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยปูทางสู่การออกแบบยาเดิมให้มีรูปแบบใหม่และสามารถทำลาย เชื้อโรคที่ดื้อยาลงได้

"มันทำให้พวกเราตื่นเต้นจริงๆ ที่สามารถออกแบบเอนไซม์ได้ใหม่ในคอมพิวเตอร์ แล้วจึงค่อยไปสร้างเอนไซม์นั้นขึ้นมาจริงๆ ในห้องแล็บ และมันก็ทำงานได้จริงตามที่เราหวังไว้" โดนัลด์ กล่าวด้วยความตื่นเต้น ในผลสำเร็จของงานวิจัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health) และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences: PNAS) ฉบับออนไลน์ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.52 ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิจัยได้เผยแพร่โปรแกรมเป็นโอเพนซอร์ซ (open source) เพื่อให้นักวิจัยที่สนใจนำไปใช้งานได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ โดย ปรกติแล้วการวิจัยพัฒนายาตัวใหม่มักทำการทดลองสังเคราะห์โดยการดัดแปลงจากยา หรือสารประกอบตัวเดิมที่มีอยู่แล้ว ทว่าวิธีการของโดนัลด์คือใช้โปรแกรม algorithm K* ที่พัฒนาขึ้น มาทำนายแนวโน้มการการเปลี่ยนแปลงหรือการผันแปรของเอนไซม์ในจุลินทรีย์ที่ ผลิตสารปฏิชีวนะชนิดนั้น ซึ่งจะช่วยให้การค้นหายาใหม่มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และมีต้นทุนที่ถูกลงเพื่อให้ได้รูปแบบของเอนไซม์ที่ดีที่สุด

"มันเป็นวิถีใหม่ที่มีความจำเป็นในการออกแบบยาใหม่ๆ ซึ่ง ในการที่เราจะสร้างโปรตีนตัวหนึ่งขึ้นมา มันมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปได้ตั้งมากมาย แต่โปรแกรม algorithm K* มันสามารถทดสอบความผันแปรของโปรตีนในรูปแบบต่างๆ ได้มากกว่าการทดลองในห้องแล็บแต่เพียงอย่างเดียว" โดนัลด์ แจง

ทีมวิจัยหวังให้โปรแกรมดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการออกแบบโปรตีนชนิด อื่นๆ ด้วย รวมทั้งคำนวณทิศทางการเคลื่อนที่โดยรอบของโปรตีนในแบบ 3 มิติ ซึ่ง K* เวอร์ชันล่าสุดของเขาสามารถทำให้แกนหลักของโปรตีน (protein backbone) และสายโซ่ข้างเคียง (side chain) บิดโค้งงอได้มากกว่า และในขณะเดียวกันมันก็ช่วยคำนวณหาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เป็นไป ได้ทั้งหมดของโปรตีนนั้น

"เมื่อเป็นดังนั้นเราอาจจะค้นพบยาที่ต้องการได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้นมากหากเราใช้เทคนิคแบบเดิมทำการทดลองในห้อง แล็บเพียงอย่างเดียว และโดยหลักการแล้วโปรแกรมนี้ก็น่าจะใช้ในการออกแบบเอนไซม์ใดๆก็ได้อย่างง่าย ดายด้วยการป้อนข้อมูลโครงสร้างของโปรตีนหรือเอนไซม์นั้นเข้าไป แล้วเราก็สั่งการให้มันทำงาน" โดนัลด์ กล่าว

โดนัลด์ได้รับความร่วมมือจากเอมี แอนเดอร์สัน (Amy Anderson) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอนเนคติคัต (University of Connecticut) ในการทดลองทางชีวเคมีเพื่อทดสอบความถูกต้องแม่นยำของการออกแบบเอนไซม์ในระบบ ของ กรามิซิดีน เอส ซินเทเตส (Gramicidin S Synthetase) ด้วยโปรแกรม algorithm K*

การออกแบบเอนไซม์ด้วยโปรแกรมดังกล่าวนั้นถือเป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญในกระบวนการสร้างยาปฏิชีวนะใหม่ ซึ่งโปรแกรมนี้ยังช่วยทดลองทำปฏิกิริยาเคมีต่อกันและการบิดหมุนโครงสร้างของโมเลกุลโปรตีนทุกแบบที่น่าจะเป็นไปได้ และคำนวณเพื่อคัดแยกรูปแบบของโครงสร้างโปรตีนที่ไม่ทำงานออกไป ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์คลัสเตอร์ในแล็บของทีมวิจัย

เมื่อประมวลผลเสร็จสมบูรณ์แล้ว นักวิจัยจึงทดลองสร้างโปรตีนที่ได้ออกแบบด้วยโปรแกรมดังกล่าวขึ้นในห้องแล็บ โดยใช้แบคทีเรียช่วยในการสังเคราะห์โปรตีนนั้น แล้วทดสอบการทำงานของโปรตีนแต่ละตัวที่สร้างขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม โดนัลด์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า gramicidin S นั้นไม่น่าจะใช้รักษาโรคติดเชื้อได้ผลสักเท่าไหร่แล้ว ทว่ามันก็ยังเป็นต้นแบบสำหรับศึกษาการทำงานของเอนไซม์ได้เป็นอย่างดี เพราะว่านักวิจัยมีข้อมูลโครงสร้าง 3 มิติ ของเอนไซม์ชนิดนี้อยู่มาก ซึ่งมันน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการออกแบบเอนไซม์ใหม่หรือปรับปรุงกลไก ของเอนไซม์ชนิดอื่นให้ทำหน้าที่สังเคราะห์ยาในตระกูล gramicidin ได้ เช่น เพนิซิลลิน (penicillin) และ แวนโคมัยซิน (vancomycin).

วอชิงตัน 24 เม.ย.-นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชาวเดนมาร์กพัฒนาโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่เป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะนอกจากตัวเครื่องจะทำมาจากไม้ไผ่แล้ว ภายในยังมี เมล็ดพันธุ์ไม้ไผ่บรรจุอยู่ถ้านำตัวเครื่องที่ใช้จนเสียไปกลบฝังในดินก็จะ ช่วยให้เมล็ดพันธุ์ข้างในงอกออกมาเป็นต้นได้
นักออกแบบรายนี้มีชื่อ ว่า เกิร์ท แจน แวน บรูเจล เขาตั้งใจออกแบบโทรศัพท์มือถือให้ย่อยสลายได้ง่าย และเมื่อใช้จนเสียแล้ว ก็สามารถงอกขึ้นมาเป็นต้นไม้ได้ด้วย เพื่อจะได้ลดจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้มีน้อยลง


โทรศัพท์มือถือรุ่น นี้ยังช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า เพราะด้านหลังของเครื่องจะมีข้อต่อเอาไว้หมุนให้พลังงาน ถ้าหมุนข้อต่อครบ 3 นาที จะช่วยให้ตัวเครื่องมีพลังงานเพียงพอสำหรับการรับส่งข้อความสั้น หรือโทรเข้าโทรออกได้ชั่วคราว ไม่จำเป็นต้องนำแบตเตอรี่ไปชาร์จไฟอยู่ตลอดเวลา
หลายฝ่ายคาดว่า โทรศัพท์มือถือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอีกไม่ กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากผู้บริโภคต่างใส่ใจในปัญหาโลกร้อนกันมากขึ้น ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมายังได้เห็นบริษัทผู้ผลิตมือถือหลายแห่งเปิดตัว โทรศัพท์มือถือทั้งในแบบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ไปจนถึงตัวเครื่องที่ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล


แต่เนื่องจาก โทรศัพท์มือถือเหล่านี้มักมีราคาที่แพงกว่าโทรศัพท์มือถือทั่วไป ดังนั้น จึงยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่า ถ้ามีการวางขายอย่างจริงจัง โทรศัพท์มือถือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ ซื้อหรือไม่ ผลการศึกษาจาก Strategy Analytics พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในสหรัฐและยุโรป ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อมือถือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนกลุ่มที่ซื้อก็ยังจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ลูกเล่นในตัวเครื่องและรูปทรงการออกแบบ ถ้าเป็นมือถือในแบบที่เชยเกินไปหรือไม่มีลูกเล่นการใช้งาน แม้จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ก็คงไม่จูงใจให้ผู้บริโภคอยากซื้อมาใช้ เช่น โทรศัพท์มือถือที่ทำจากไม้ไผ่ของเกิร์ท แจน แวน บรูเจล ที่สามารถใช้งานได้แค่โทรเข้าโทรออกและส่งข้อความสั้นเท่านั้น.

ที่มา สำนักข่าวไทย

เกาหลีใต้โคลนนิงสุนัขเรืองแสง

โซล 29 เม..ย.- นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ในเกาหลีใต้ ได้เพาะพันธุ์สุนัขเรืองแสงออกมาเป็นสีแดง โดยใช้เทคนิคการลอกแบบพันธุกรรม หรือโคลนนิ่ง

ลูกสุนัขสายพันธุ์บีเกิล 4 ตัว ที่ได้รับการโคลนนิ่ง ถูกเรียกว่า “ Ruppy “ ย่อมาจาก “ Ruby Puppy “ หรือแปลเป็นไทยว่า “ ลูกสุนัขสีแดงทับทิม “ โดยนักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้ได้นำโปรตีนเรืองแสงตัดต่อเข้าไปในลูกสุนัขเหล่า นี้ตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนอยู่ในห้องทดลอง จากนั้น จึงนำตัวอ่อนซึ่งเป็นลูกสุนัขโคลนนิงฝังเข้าไปในท้องแม่สุนัข

จน กระทั่งพวกมันถือกำเนิดออกมาเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2550 นักวิทยาศาสตร์จึงพบว่า ลูกสุนัขเหล่านี้เปล่งแสงออกมาเป็นสีแดงได้จริงเมื่ออยู่ภายใต้แสงอุลตรา ไวโอเลต แต่เมื่ออยู่ท่ามกลางแสงแดด ก็จะเห็นผิวและอุ้งเท้าของมันเป็นสีชมพู

ตามปกติ สุนัขจะเป็นสัตว์ที่ไม่มียีนเรืองแสงในร่างกาย ผลการวิจัยครั้งนี้ จึงนับเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการตัดต่อยีนต่างเผ่าพันธุ์ใส่เข้าไปในสุนัข จนทำให้พวกมันเรืองแสงออกมาได้ ก่อให้เกิดความหวังว่า ในอนาคตอาจมีการนำยีนที่เชื่อมโยงกับโรคภัยไข้เจ็บในมนุษย์ เช่น โรคพาร์คินสัน ปลูกถ่ายเข้าไปสุนัข เพื่อการศึกษาวิจัยผู้เชี่ยวชาญ ด้านการโคลนนิงในเกาหลีใต้บอกว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีการเพาะพันธุ์แมว หนู และลิงเรืองแสงมาแล้ว แต่การเพาะพันธุ์สุนัขเรืองแสงต้องใช้ความพยายามมากกว่า เพราะสุนัขถือเป็นสัตว์ที่รับการปลูกถ่ายยีนต่างเผ่าพันธุ์ได้ยากมาก.

ที่มา สำนักข่าวไทย